การท่องเที่ยวเชิงเกษตร และ ชมวิถีชีวิตในชนบท จังหวัดบุรีรัมย์ สุดสัปดาห์ ถ้าคิดว่า จะไปไหน…
ทุกวันนี้ หลายคน ใช้ชีวิต อยู่กับความเร่งด่วน วิถึชีวิตคนเมือง อันแสนวุ่นวาย ตื่นเช้าไปทำงาน ตกมืดค่ำ สูดกลิ่นควันพิษท่อไอเสีย กลับบ้าน เข้านอน เพื่อวนเวียนกับวิถีชีวิตเดิมๆ
วันหยุด จึงเป็นวัน อันสุดแสนจะมีค่า ของคนเมือง.. มีเวลา 2 วัน 1 คืน ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์สั้นๆ ถ้าไม่รู้จะไปไหน การได้เปลี่ยนบรรยากาศ ไปสูดกลิ่นไอดิน กลิ่นน้ำค้าง ฟังเสียงจักจั่น หริ่งหรีดเรไร จึงเหมือนเป็นการชาร์ทพลังไปในตัว เพื่อ เริ่มต้นวันใหม่ ของสัปดาห์ .
บางครั้งแค่คิดว่าจะไปไหน ก็ เป็นปัญหาใหญ่ สำหรับหลายๆคน ไม่รู้ว่าจะไปไหนดี ด้วยเวลาอันจำกัด วันนี้ เราจะมาแนะนำ จังหวัดหนึ่ง ในภาคอีสาน ที่สามารถเดินทางได้จาก กรุงเทพมหานครและจากจังหวัดใกล้เคียง ด้วยระยะทาง ราว 400 กม.จาก กรุงเทพมหานคร
เราเริ่มออกเดินทางจาก จากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) ถึงสระบุรีเลี้ยวขวาเข้า ทางหลวงหมายเลข 2 แยกขวา เข้าทางหลวงหมายเลข 224 และทางหลวงหมายเลข 24 (โชคชัย-เดชอุดม) ผ่านอำเภอหนองกี่ อำเภอนางรอง แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ตัวจังหวัดบุรีรัมย์ ตามทางหลวงหมายเลข 218
ใช้เวลาเดินทาง ราว 5-6 ชม. ..
เข้าตัวเมืองบุรีรัมย์ เราแวะ ไหว้ศาลหลักเมือง บุรีรัมย์ เพื่อความเป็นสิริมงคล ศาลหลักเมืองบุรีรัมย์นี้ เป็นศาลที่สร้างเลียนแบบ ปราสาทหินพนมรุ้ง เอกลักษณ์ ของเมืองบุรีรัมย์
มาถึงตัวเมืองบุรีรัมย์ทั้งที สถานที่ เราต้องแวะ คือ สนามฟุตบอล ไอ-โมบาย สเตเดียม เห็นเขาว่า เป็นสนามที่ผ่านมาตรฐานฟีฟ่า แต่ด้วยความที่เรา ไม่รู้เรื่องบอล ไม่สนใจเรื่องบอล ถึงแม้ว่าจะมีความสนใจนักฟุตบอลนิดหน่อย ด้วยความรู้ที่มีน้อย จึงขอข้ามผ่าน จุดนี้ไป
จากการเข้าไปสังเกตการณ์ สนามฟุตบอลแห่งนี้สวยงามและมีขนาดใหญ่ มีร้านรวงขายของที่ระลึก และด้านหลัง ติดกับสนามแข่งรถ
จาก ตัวเมืองบุรีรัมย์ เราใช้เส้นทาง ทางหลวงชนบท ถนนสายห้วยราช – กระสัง จากตัวเมืองบุรีรัมย์ 12 กม.
มาถึง หมู่บ้าน สนวนนอก หมู่บ้านแหล่งท่องเที่ยววิถีชีวิตผลิตไหม
แต่แรกที่ไปถึง ก็มีรถ หน้าตาเหมือนหนอนไหม ออกมาต้อนรับ พานักท่องเที่ยวเข้าไป ยังหมู่บ้าน
แต่เดิมบ้านสนวนนี้ เป็นหมู่บ้าน ที่ป่ารกทึบ เต็มไปด้วยต้นสนวน .. แต่ปัจจุบัน ชาวบ้านได้พากันเข้ามาตั้งรกรากอยู่ ชาวบ้านที่นี่ ใช้ภาษาเขมร เป็นภาษาพื้นเมือง ในการติดต่อกัน เป็นหมู่บ้าน เล็กๆ ที่มีวิถีชีวิตเรียบง่าย มีการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ทอผ้า ทำไร่นาสวนผสม
ผ้าไหมที่มีชื่อเสียง ของที่นี่ คือผ้าไหมลายหางกะรอกคู่
วันเสาร์ อาทิตย์ ที่มีนักท่องเที่ยวมายังหมู่บ้าน หมู่บ้านจะมีการจัดตลาดโบราณ
มีขนมโบราณมาให้ลองชิม เช่นขนมตดหมา .. เป็นขนม ที่ ใช้ต้นเถาตดหมา สมุนไพรกลิ่นแรง นำมาทำเป็นขนม น่าแปลกที่กลายเป็นขนมรสชาติหอมมัน ไม่เหลือกลิ่นเหม็นสยองขวัญ เอาไว้เลย แม้แต่น้อย
ตลาดโบราณ นี้จัดบริเวณ บ้านโบราณ อายุ เก่าแก่ เป็นร้อยปี มีสาธิต การสาวไหม การสานตะกร้า การปั้นดิน เป็นตุ๊กตาโบราณ .
ช่วงค่ำ ชาวบ้านจะแต่งชุด ไทยโบราณ มาร่วมรับประทาน อาหาร พื้นบ้าน กับนักท่องเที่ยว มีการ ประกอบพิธี บายศรี สู่ขวัญ รับแขกบ้านแขกเมือง มีการแสดง ดนตรี รำอวยพร รำตรด( รำพื้นบ้าน สมัยก่อน เวลามีงานพิธี ชาวบ้านจะ รำตรด ไปรอบๆ หมู่บ้านเพื่อเเจ้งข่าวให้คนในหมู่บ้านทราบ เพื่อ จะได้มาร่วมในพิธีการต่างๆ)
โฮมสเตย์ของ หมู่บ้าน มีมากกว่า 15 หลัง รับนักท่องเที่ยวได้กว่า 100 คน
อัตราค่าที่พัก พร้อมรายละเอียด เบอร์โทร ขอแปะเอาไว้ในภาพ ทางด้านล่าง..
โฮมสเตย์ ที่ นกไป พัก เป็นบ้านปูนชั้นเดียว หลังคามุงสังกะสี รอบบ้าน เป็นสวนใบเตย เป็นห้องพัดลม แต่น่าแปลก ที่ไม่ได้ร้อน เหมือนที่คิด เสียงหริ่งหรีดเรไรร้องระงม คืนนั้น เป็นอีกคืน ที่หลับสบาย จนคุณป้าต้องเข้ามาปลุก เพื่อตื่นเช้า ไปใส่บาตร
ช่วงเช้าหลังใส่บาตรเสร็จ เราไปรวมตัวกันที่วัด หลังพระฉันเพล ให้ศีลให้พร เราต่างร่วมรับประทานอาหารเช้ากับชาวบ้าน กันที่วัด ก่อนจะกล่าวอำลา ก่อนจาก เราสัญญากับคุณป้าเจ้าของ โฮมสเตย์ว่า มีโอกาส จะกลับมาพักอีกครั้ง ให้ได้..
ออกจาก บ้านสนวน เราเดินทางไป วนอุนทยานภูเขาไฟกระโดง
เขากระโดงตั้งอยู่ ใน อ. เมือง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นภูเขาไฟ ที่ยังคงปรากฎร่องรอย ปากปล่อง อย่างชัดเจน
ซึ่งการเดินขึ้นเขากระโดง เดินขึ้น บันไดนาคราช 297 ขั้น เมื่อขึ้นไป ถึงยอด จะพบ ปราสาทเขากระโดง ซึ่งสร้างขึ้น ก่อนสมัยสุโขทัย เดิมเป็นปรางค์หินทราย ก่อบนฐานศิลาแลง ต่อมาหินพัง มีผู้นำหินมาเรียงขึ้นมาใหม่ แต่ไม่ตรงตามรูปแบบเดิม ในสมัยรัตนโกสินทร์ ตระกูลสิงห์เสนีย์ได้ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองไว้ในองค์ปรางค์ แล้วสร้างมณฑปครอบทับ
บนยอดเขากระโดง ประดิษฐาน พระสุภัทรบพิตร เป็นพระพุทธรูปคู่บ้าน คู่เมือง ของชาวบุรีรัมย์
ทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 จะมีงานประเพณีขึ้นเขากระโดง
และจัดงานประกวดกวนข้าวทิพย์–ตักบาตรเทโวโรหณะ ในช่วงก่อนวันออกพรรษาและวันออกพรรษาของทุกปี
ถ้าใครเดินไม่ไหว สามารถ ขับรถขึ้นสู่ยอดเขากระโดงได้ ..ข้างทางจะมีพระพุทธรุปปางต่างๆเรียงรายอยู่
วิธีเดินทางไป เขากระโดง จากตัวจังหวัด บุรีรัมย์ ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 219 (บุรีรัมย์-ประโคนชัย) ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร
บุรีรัมย์ ยังมีสถานที่ ท่องเที่ยว ที่น่าสนใจอีกหลายที่ เป็นจังหวัด ที่มีปราสาทหินมากมายหลายแห่ง ปราสาทหิน ที่มีชื่อเสียง และขึ้นชื่อว่าสวยงามที่สุด ในเมืองไทย จนได้ขึ้นทะเบียน เป็นมรดกโลก คือปราสาทหินพนมรุ้ง พ่วงด้วยปราสาทหินเมืองต่ำ
ถ้าใคร ยังคิดไม่ออก ว่าเสาร์อาทิตย์ นี้ จะไปที่ไหนดี บุรีรัมย์ ทริป นี้ ถือว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจอีกทางหนึ่ง .. ไว้ให้พิจารณากันนะคะ ..